หมวดหมู่ - แพ่ง
ปู่ของแฟนผู้ร้องเป็นเส้นเลือดในสมองแตก อัมพาตครึ่งซีก นอนติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดไม่ได้ การรับรู้เหมือนเข้าใจที่พูดเป็นบางครั้ง เป็นมา 2 ปีแล้ว แฟนผู้ร้องเป็นผู้ดูแลแต่เพียงผู้เดียว ต้องการเป็นผู้อนุบาลผู้ป่วย แต่ไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร เนื่องจากไม่ใช่หลานแท้ๆ เพราะปู่เป็นสามีคนที่สองของย่า และปู่ไม่มีลูกกับย่า ปู่มีพี่น้องอยู่แต่ก็อายุมากแล้ว จึงให้แฟนผู้ร้องเป็นผู้ดูแลและตัดสินใจทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ปู่เป็นข้าราชการบำนาญได้รับเงินเป็นรายเดือน และไม่ได้ทำเอทีเอ็มไว้ ทำให้เวลาเบิกเงินต้องพาปู่ไปด้วยทุกครั้ง ผู้ร้องกังวลว่าถ้าต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วไม่สามารถพาปู่ไปเบิกเงินได้จะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาและซื้อของใช้จำเป็น
ประเด็นคำถาม
- ในกรณีที่ไม่ใช่หลานแท้ๆ สามารถขอเป็นผู้อนุบาลผู้ป่วยและทำธุรกรรมต่าง ๆ แทนผู้ป่วยได้หรือไม่ และถ้าสามารถทำได้จะติดต่อขอทำเรื่องได้ที่ไหน
- ในกรณีที่ไม่สามารถขอเป็นผู้อนุบาลได้ผู้ร้องอยากขอคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางต่อไป
ชายสัญชาติจีนสมรสกับหญิงสัญชาติไทย มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชายชาวจีนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต่อมาภรรยาชาวไทยเสียชีวิต สามีชาวจีนต้องการให้บิดาของภรรยาเป็นผู้จัดการมรดกจึงลงชื่อในหนังสือให้ความยินยอมของทายาทเป็นภาษาจีนพร้อมแนบหนังสือเดินทางและสำเนาให้ด้วยเพื่อใช้เป็นหลักฐานในฐานะทายาทโดยธรรมและผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรเพื่อให้บิดาของภรรยาร้องขอศาลตั้งผู้จัดการมรดก
ประเด็นคำถาม
การลงลายมือชื่อเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อหรือไม่
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ได้ติดต่อผู้เช่าให้มาดูบ้าน เมื่อดูเสร็จผู้เช่าต้องการเช่าทันที แต่ขณะนั้นสัญญายังไม่พร้อม ผู้เช่าจึงสั่งจ่ายเช็คในนามนิติบุคคล ลงวันที่ล่วงหน้า 2 ฉบับ ในฉบับแรกมีลักษณะขีดคร่อมที่หัวเช็คระบุ “จ่ายเงินสด” และไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ จำนวน 10,000 บาท ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 และฉบับที่ 2 จำนวน 20,000 บาท ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 โดยตกลงว่าจะทำสัญญาเช่าในอาทิตย์ถัดไป แล้วผู้ให้เช่าจึงได้มอบกุญแจบ้านแก่ผู้เช่า
- ในวันถัดมา คือวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ผู้เช่าอ้างว่าในบ้านมีเห็บ หมัด เป็นจำนวนมาก จึงได้ว่าจ้างคนมาฉีดยาฆ่าเห็บ หมัด เป็นจำนวนเงิน 3,500 บาท ให้ผู้ให้เช่าโอนเงินมาให้ด้วย ผู้ให้เช่าเห็นว่าเป็นเหตุที่มาจากผู้เช่าคนก่อนที่นำสุนัขเข้ามาเลี้ยงจริง จึงโอนเงินไปให้
- ต่อมาผู้เช่าติดต่อมาบอกว่าไฟเพดานในบ้านมีลักษณะเก่า ไม่สวยงาม และเสี่ยงต่อการถูกไฟดูด หรือไฟช็อต อาจถึงตายได้ ผู้เช่าได้เสนอว่าตึกเก่าที่เขาประกาศขายมีโคมไฟเพดานสวยๆ อยู่ และส่งภาพให้ผู้ให้เช่าดูทางไลน์ อยากจะยกให้ผู้ให้เช่า แต่ผู้ให้เช่าจะต้องจ่ายเงินค่าถอดและขนย้ายจุดละ 600 บาท ทั้ง 12 จุด เป็นเงิน 7,000 บาท ซึ่งผู้ให้เช่าตกลงและได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวไปให้
- ต่อมาผู้เช่าระบุว่าเห็บ หมัดมีจำนวนมากจนผู้รับจ้างฉีดยาฯ ทำงานไม่สำเร็จจะขอคืนเงินให้ ให้ผู้ให้เช่าส่งเลขบัญชี แล้วจะโอนเงินคืน แต่ผู้ให้เช่าก็ไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืนแต่อย่างใด โดยผู้เช่าแจ้งเพิ่มว่าในบ้านเช่ามีปลวกกำลังกัดกินตู้เสื้อผ้าบิ้วท์อิน ต้องกำจัดปลวก โดยไม่ขอใช้บริการจากบุคคลของผู้ให้เช่า เนื่องจากเขาได้ว่าจ้างคนรับกำจัดเห็บ หมัดเดิมมากำจัดปลวกแล้วมีค่าใช้จ่าย7,000 บาท และได้แจ้งให้ผู้เช่าโอนเงินไปเพิ่มอีก 3,500 บาท เพื่อทำสัญญากำจัดปลวก เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งไม่ทราบว่าหลังจากการดำเนินการครั้งแรกแล้วมีการดำเนินการต่อหรือไม่
- ต่อมาระหว่างวันที่ 1-11 ตุลาคม 2560 ผู้เช่าทำที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย บอกผู้ให้เช่าว่า ประตูเข้าบ้านมี 3 ทางไม่ดี ออฟฟิศที่ตนขายไปนั้นมีกระจกที่ถอดออกมา และรู้จักผู้รับเหมาจะดำเนินการให้ในราคา 30,000 บาท ผู้ให้เช่าเห็นว่าประตูเก่าไม่ค่อยดีแล้วจึงตกลงโอนเงินวางมัดจำไปให้จำนวน 15,000 บาท หลังจากนั้นผู้เช่าได้โทรมาแจ้งว่ามีความเข้าใจผิดเรื่องประตู เมื่อผู้ให้เช่าดูแบบเห็นว่าไม่สวยจึงไม่ตกลงด้วย วันที่ 10 ตุลาคม 2560 ผู้เช่าจึงไปซื้อประตูใหม่ราคา 40,000 บาท ทำให้ราคารวมการทำประตูทั้งหมดกลายเป็น 60,000 บาท อย่างไรก็ตามผู้ให้เช่าไม่ได้จ่ายเงินเพิ่มเติมในส่วนนี้เนื่องจากตรวจสอบพบว่าสถานะการเงินผู้เช่ากำลังมีปัญหา
- และเมื่อนำเช็คฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ไปขึ้นเงิน ธนาคารได้ตีคืนกลับมาแล้วแจ้งว่าบัญชีปิดไปแล้ว แต่ผู้ให้เช่ายังไม่ได้นำเช็คอีกฉบับไปขึ้นเงินเพราะคาดว่าคงขึ้นเงินไม่ได้เช่นกัน แน่นอน
ทั้งนี้ผู้ให้เช่าได้แจ้งให้ผู้เช่าย้ายออกในภายวันที่ 31 ตุลาคม 2560
ประเด็นคำถาม
- สามารถเอาผิดผู้เช่าได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากไม่มีสัญญาเช่า แต่ได้รับเช็คมา 2 ฉบับเป็นหลักประกันในการขอเข้าอยู่
- ผู้ให้เช่าจะสามารถเรียกร้องเงินที่ถูกหลอกไปได้หรือไม่ เพราะผู้เช่าอ้างว่าได้โอนเงินทั้งหมดให้กับบุคคลที่รับผิดชอบงานนั้นๆ ไปแล้ว ส่วนที่เป็นค่าทำไฟผู้ให้เช่าโอนตรงไปที่บัญชีของบุคคลที่ 3 นั้นจะโอนคืนต้องคุยกับบุคคลเหล่านั้นก่อน ซึ่งผู้เช่าไม่เคยนำหลักฐานการโอนมาแสดงให้เห็นเลย
คุณพ่อของผู้ร้องได้กู้ยืมเงินจากคุณป้าของผู้ร้องไปเป็นจำนวน 180,000 บาท เมื่อหลายปีมาแล้ว ต่อมามีการแบ่งมรดกกัน(ผู้ร้องมิได้ให้ข้อมูลว่าแบ่งมรดกของใคร จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการแบ่งมรดกของปู่ผู้ร้อง เนื่องจากมีการแบ่งให้กับพี่น้องทั้งหมด 9 คน) มีการตั้งผู้จัดการมรดก และแบ่งมรดกออกเป็น 9 ส่วนตามจำนวนทายาทซึ่งเป็นพี่น้องกัน คุณป้าของผู้ร้องจึงแจ้งแก่ผู้จัดการมรดกว่าคุณพ่อของผู้ร้องติดหนี้คุณป้า ผู้จัดการมรดกจึงโอนมรดกในส่วนที่คุณพ่อของผู้ร้องจะต้องได้ให้กับคุณป้าไปโดยที่คุณพ่อของผู้ร้องไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมด้วยในการจัดการทรัพย์มรดกเช่นว่านี้ ปัจจุบันคุณพ่อของผู้ร้องได้เสียชีวิตลงแล้ว และคุณป้าได้โอนที่นาแปลงนั้นให้กับบุตรของคุณป้า
ประเด็นคำถาม
- ผู้ร้องสามารถเรียกที่นาในส่วนที่คุณพ่อผู้ร้องมีสิทธิจะได้ตามกฎหมายคืนจากคุณป้าได้หรือไม่
ข้อเท็จจริง
มารดาของผู้ร้องทำห้องพักให้บุคคลอื่นเช่า ได้ทำการแยกมิเตอร์ไฟไหญ่ 1 อัน และแยกมิเตอร์ย่อยออกตามห้องพักแต่ละห้อง ซึ่งมีอยู่ห้องหนึ่งที่น้าชายและครอบครัวอาศัยอยู่โดยอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมที่เจ้ามรดกยกให้ น้าชายและครอบครัวก็ได้อาศัยอยู่เป็นเวลานาน ไม่เคยจ่ายค่าน้ำค่าไฟเป็นเวลากว่า 7 ปี ทุกครั้งที่มารดาผู้ร้องทวงถาม ก็เพิกเฉยและตอบกลับว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ
ประเด็นคำถาม
1. น้าชายของผู้ร้องต้องรับผิดในค่าน้ำ-ค่าไฟหรือไม่
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าบ้านกับเจ้าของบ้านเช่าในอัตราเดือนละ 5,000 บาท ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายจำนวน 15,000 บาท สัญญาเช่าดังกล่าวไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาไว้ ต่อมาผู้ร้องได้บ้านเช่าแห่งใหม่ซึ่งมีราคาถูกกว่า คือ เดือนละ 3,000 บาท ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับเจ้าของบ้านเช่าโดยผู้ร้องได้บอกกล่าวล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน แต่เจ้าของบ้านเช่าแจ้งว่าบ้านที่เช่าเกิดความเสียหายบริเวณพื้นบ้าน ส้วมชำรุด ฝ้าพังบางส่วน จึงให้ผู้ร้องซ่อมแซม ผู้ร้องใช้เวลาซ่อมนานประมาณ 1 เดือน
ประเด็นคำถาม
ระยะเวลาที่ผู้ร้องซ่อมแซมบ้านเช่าเป็นเวลา 1 เดือน ผู้ร้องต้องเสียค่าเช่าหรือไม่ จะมีวิธีการที่ไม่ต้องเสียเงินค่าเช่าเดือนดังกล่าวหรือไม่ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ หากฟ้องจะชนะคดีหรือไม่
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องได้ขายหอพักให้ผู้ซื้อโดยตกลงราคากันเป็นเงินจำนวน 14 ล้านบาท ผู้ซื้อวางมัดจำและขอกู้เงินจากธนาคารกสิกร กำหนดวันนัดโอนคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 พอถึงกำหนดวันนัดโอนปรากฏว่าผู้ซื้อยังขาดเงินอีก 5 บ้านบาท แต่ผู้ซื้อขอร้องว่าผู้ซื้อมีความจำเป็นต้องโอน มิฉะนั้นผู้ซื้อจะถูกธนาคารปรับที่ไม่รับเงินตามที่ทำเรื่องกู้ไว้ ผู้จัดการธนาคารรับปากว่าจะทำเรื่องเปิด OD ให้ผู้ซื้อภายในหนึ่งเดือน ผู้ร้องคิดว่าไม่มีใครช่วยดูแลหอพักจึงตัดสินใจขาย ผู้ซื้อสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้า 1 เดือน แต่พอครบกำหนดวันที่ลงในเช็คปรากฏว่าเบิกเงินไม่ได้เพราะธนาคารไม่อนุมัติ OD ประมาณเดือนมิถุนายน 2557 จึงเจรจากับผู้ซื้อแล้วได้เงินมา 1.3 บาท ต่อมาเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557 ผู้ซื้อนำหอพักไป refinance ที่ UOB ได้วงเงินกู้เพิ่ม แต่เมื่อหักค่าปรับชำระหนี้ก่อนกำหนดที่กสิกรแล้ว เหลือเงินมาชำระหนี้เพิ่มเพียง 1 แสนบาท และปิดบัญชีที่กสิกร รวมทั้งบัญชีเช็คที่จ่ายมาก่อนด้วย และที่ธนาคาร UOB ผู้ซื้อไม่มีบัญชีกระแสรายวันจึงไม่มีเช็คมาเปลี่ยน
ประเด็นคำถาม
1. ควรทำสัญญากับผู้ซื้ออย่างไรต่อไป ที่จะสามารถฟ้องร้องได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
2. หากผู้ซื้อตาย เราจะเรียกร้องเงินส่วนที่ค้าง 3.6 ล้านบาท จากผู้รับมรดกของเขาได้หรือไม่ ต้องให้บุคคลใดมาลงชื่อรับรู้เพิ่มหรือไม่
3. หนี้ที่ค้างชำระมีอายุความเท่าไร นับแต่เมื่อใด
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อแอ็ปเปิ้ล รุ่นไอโฟน 4s สีขาว (iphone 4s) ระยะเวลายังไม่ครบ 10 เดือน (ปัจจุบันคือเดือนธันวาคม 2557) จากร้านค้าที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต โดยวิธีการผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต ในขณะเปิดใช้เครื่องผู้ร้องพบว่ารูปไอคอนแอ็ปเปิ้ลแสดงเป็นสีดำ ซึ่งเพื่อนของผู้ร้องแจ้งแก่ผู้ร้องว่าสีตัวเครื่องโทรศัพท์และรูปไอคอนแอ็ปเปิ้ลจะต้องเป็นสีเดียวกัน นอกจากนั้นผู้ร้องได้ตรวจสอบจากหมายเลขตัวเครื่องโทรศัพท์ พบว่าหมายเลขตัวเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าวมีการซื้อขายมาแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ผู้ร้องสอบถามจากทางร้านซึ่งได้ดำเนินการลงทะเบียน iCloud ให้แก่ผู้ร้อง แต่ทางร้านค้าปฎิเสธว่าไม่มีข้อมูลสำรองสำหรับลูกค้า ผู้ร้องคิดว่าตนถูกร้านค้าหลอกขายโทรศัพท์มือสองให้แก่ตน
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องควรดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทฯได้ทำสัญญาเช่าโรงงานกับนาง ก. ในราคาเดือนละ 100,000 บาท ภายหลังทราบว่า นาง ก.นำโรงงานดังกล่าวไปจำนองไว้กับธนาคารและผิดนัดชำระหนี้ต่อธนาคาร จนเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องบังคับคดีจนคดีถึงที่สุด นาง ก.ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึด อายัดทรัพย์และนำโรงงานที่บริษัทฯผู้ร้องเช่าอยู่ออกขายทอดตลาด ธนาคารซึ่งเป็นโจทก์ในคดีได้เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้พร้อมชำระเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2557 อย่างไรก็ตามชื่อในโฉนดที่ดินยังคงเป็นชื่อเจ้าของกรรมเดิมอยู่ ส่วนระยะเวลาตามสัญญาเช่าของบริษัทฯผู้ร้องยังไม่ครบระยะเวลา ธนาคารได้ติดต่อให้บริษัทผู้ร้องดำเนินการเช่าโรงงานต่อกับธนาคาร หากเอกสารสัญญายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ประเด็นคำถาม
1.การเปลี่ยนตัวเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่า เป็นเหตุให้สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือไม่
2.ผู้ร้องต้องชำระค่าเดือนกันยายน-ธันวาคม 2557 ให้แก่นาง ก. หรือธนาคาร
ข้อเท็จจริง
ผู้ร้องทำสัญญาจะขายที่ดินตามแบบฟอร์มที่ดาวโหลดทางอินเตอร์เน็ตกับผู้ซื้อ ในวันทำสัญญาผู้ซื้อได้วางมัดจำไว้จำนวน 1 ล้านบาท ส่วนราคาที่ดินที่ตกลงไว้จำนวน 6,300,000 บาท สัญญากำหนดวันทำสัญญาซื้อขายไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2558 ในวันทำสัญญาผู้ซื้อแก้ไขเนื้อหาสัญญาจากเดิมในข้อที่มีเนื้อหาว่า
“ในกรณีที่ผู้จะผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบเงินที่ผู้จะซื้อได้ชำระให้ผู้จะขายทั้งหมด และถ้าผู้จะขายผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อบังคับผู้จะขายให้ปฏิบัติตามสัญญานี้ได้ ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้จะซื้อในอันที่จะเรียกค่าเสียหายจากผู้จะขายถ้าหากจะพึงมี”
โดยเพิ่มเติมข้อความว่า “และผู้จะขายตกลงยอมชำระค่าปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่วางมัดจำไว้ให้แก่ผู้จะซื้อหากผิดข้อตกลงในสัญญานี้”
ประเด็นคำถาม
ผู้ร้องกังวลว่า หากผู้จะซื้อใช้เทคนิคให้ผู้ร้องกลายเป็นผู้ผิดสัญญา มีวิธีป้องกันอย่าไรได้บ้าง เนื่องจากพฤติการณ์ของคู่สัญญาในขณะปัจจุบันไม่น่าไว้วางใจ อีกทั้งค่าปรับในกรณีผิดสัญญาที่ผู้ร้องต้องชำระมีจำนวนถึง 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก